รีวิวบ้าน 2 ชั้น 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ งบ 4 ล้านบาท สวยงาม อบอุ่น ร่วมสมัย เพดานสูงโปร่ง เน้นงานไม้ อิฐ ปูนเปลือย ผสมผสานกลิ่นอายอีสาน พร้อมแชร์ประสบการณ์การทำงานกับผู้รับเหมาและสถาปนิก นี่แหละเคล็ดลับสร้างบ้านหลังแรกยังไงไม่ให้ปวดหัว
เมื่อ hola_mundo สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม และแฟน ต้องการปลูกบ้านในฝันไว้อยู่ด้วยกัน ทั้งคู่จึงเริ่มค้นคว้าหาความรู้เพื่อให้บ้านหลังนี้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งเมื่อมันเวิร์ก จนทำให้พวกเขาทำงานกับสถาปนิกและผู้รับเหมาได้เป็นอย่างดี และได้บ้านที่สวยตรงใจ ใครผ่านไปก็ต้องมองเหลียวหลัง ทั้งสองคนก็เลยนำประสบการณ์มาแชร์ต่ออย่างละเอียด พร้อมกับรีวิวแบบบ้านสวย ๆ ไปด้วยในตัว โดยงานนี้ข้อมูลเยอะ สาระอัดแน่นมาก บอกเลยว่าใครกำลังจะสร้างบ้าน ต้องห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด !
สร้างบ้านหลังแรกยังไงไม่ให้ปวดหัว: แชร์ประสบการณ์การทำงานกับสถาปนิก และผู้รับเหมา
โดย คุณ hola_mundo สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
สวัสดีค่ะ วันนี้ตั้งใจมาเล่าประสบการณ์การสร้างบ้านหลังแรกในชีวิต และการทำงานร่วมกับสถาปนิกและผู้รับเหมา เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่กำลังวางแผนจะสร้างบ้านค่ะ
เนื่องจากสไตล์บ้านที่เราสองคนชอบไม่มีขายตามบ้านจัดสรรทั่วไป (หรือมีก็แพงมาก หลายสิบล้าน สู้ราคาไม่ไหวแน่ ๆ) จึงเป็นที่มาของการว่าจ้างสถาปนิกให้ออกแบบ โดยตีความตามโจทย์ที่เราให้ไป กระทู้นี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ก่อนสร้างบ้าน (เป็นช่วงเวลาที่เจ้าของบ้านทำงานอย่างหนัก) ระหว่างสร้างบ้าน (สถาปนิกและผู้รับเหมาประสานพลังโชว์ของ) และหลังเข้าอยู่ (ฟีดแบ็กเกี่ยวกับบ้านหลังได้เข้าอยู่จริง) ขอบอกก่อนว่า เราไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลย เป็นชนชั้นกลาง มนุษย์ทำงานทั่วไป มีงบในการทำบ้านไม่มาก โดยเงินที่สร้างบ้านก็มาจากการกู้ธนาคาร โชคดีตรงที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เลยเบาภาระตรงนี้หน่อย ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลยค่ะ
บ้านฟ้าบ่กั้น
– ที่ตั้ง : จังหวัดขอนแก่น
– พื้นที่ใช้สอย : 235 ตารางเมตร (4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ)
– งบประมาณการก่อสร้าง : 4 ล้านบาท (ไม่รวม built-in)
– ออกแบบโดย S Pace Studio
– ควบคุมการก่อสร้างโดย ก.กิจรุ่งเรือง
1. ก่อนสร้างบ้าน
1.1 หาสไตล์บ้านที่ชอบ ตั้งแต่ตัดสินใจกับแฟนว่าจะสร้างบ้าน เราสองคนใช้เวลาในการหาข้อมูลอยู่ปีครึ่ง หากรู้สไตล์บ้านที่ชอบอยู่ ก็ย่นเวลาตรงนี้ได้เลยนะคะ โดยเราและแฟนจะทำการบ้านของตัวเองว่าบ้านที่ชอบเป็นแบบไหน หลังจากนั้นก็มาคุยกันว่า แนวทางที่เราสองคนชอบเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โชคดีที่เราสองคนชอบอะไรคล้าย ๆ กัน เลยเถียงกันไม่มาก (แต่ก็ไม่น้อย 555) แนะนำให้โหลดแอปฯ Pinterest มาใช้ดู เพราะมีไอเดียทำบ้านสวย ๆ เยอะมาก หลายสไตล์ มีทั้งของไทยและเมืองนอก ใครที่กำลังสร้างบ้านอยู่แนะนำเลยค่ะ สร้างบัญชีผู้ใช้ แล้วก็พิมพ์หาแนวทางบ้านที่ชอบได้เลย โดยเราสามารถเซฟภาพแล้วตั้งเป็นอัลบั้มแบ่งเป็นห้อง ๆ ได้ พอจะคุยเรื่องบ้าน ก็เปิดรูปที่เซฟไว้ขึ้นมา เนื่องจากการสร้างบ้านมีรายละเอียดเยอะมาก จะเอาสไตล์ไหน วัสดุอะไร ตั้งแต่หลังคา ยันประตู หน้าต่าง สี ระเบียง บันได ฯลฯ (ยกเว้นว่าเรายกให้สถาปนิกจัดการให้หมดเลย) ดังนั้นแนะนำว่าให้ทำการบ้านตรงส่วนนี้ดี ๆ และเตรียมรูป Reference ไว้
1.2 ลิสต์ ฟังก์ชันและความต้องการให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด คิดว่าใคร ๆ ก็เป็นค่ะ ก่อนสร้างบ้านอยากได้ห้องต่าง ๆ มากมาย อยากมีมุมตรงนู้นตรงนี้เอาไว้รับแขก บ้างอยากมีสระว่ายน้ำ มีเรือนเพาะชำ มีสนามหญ้ากว้าง ๆ มีบ่อปลา ฯลฯ ถ้ามีงบไม่จำกัด จัดเลยนะคะ แต่หากมีงบจำกัด เราต้องตัดทอนให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น (ถ้าตัดใจไม่ได้ แนะนำให้แบ่งทำเป็นเฟส ๆ เช่น อีก 2-3 ปีให้หลัง หรือถ้าสร้างเสร็จแล้วเงินเหลือ ค่อยทำเพิ่มก็ได้) นอกจากนี้อย่าลืมคิดเรื่องการดูแลรักษาหลังบ้านสร้างเสร็จด้วยนะคะ เช่น ใครจะรดน้ำต้นไม้ ใครจะตัดหญ้า เพราะบอกเลยว่าการดูแลสวนเหนื่อยเอาการเลยค่ะ
วิธีคำนวณราคาค่าก่อสร้างคร่าว ๆ คือ พื้นที่ใช้สอย (ตร.ม.) x ค่าก่อสร้าง เฉลี่ยอยู่ที่ 16,000-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับเกรดของวัสดุ ก็จะได้ราคาบ้านหนึ่งหลัง เช่น หากบ้านมีพื้นที่ใช้สอย 200 ตารางเมตร ก็จะตกประมาณ 3.2-5 ล้าน) โน้ตว่า อันนี้เฉพาะค่าก่อสร้างที่เป็นตัวบ้านอย่างเดียวนะ ยังไม่รวมค่าถมดินก่อนสร้าง ค่าทำถนนเข้าบ้าน ค่าติดม่าน-มุ้งลวด ต้นไม้ (บ้านของเราเอาไม้ล้อมมาลง 7 ต้น) ค่าทำสวน ทำรั้ว ค่า Built-in ฯลฯ ดังนั้นเจ้าของบ้านควรจะกันเงินไว้อีกประมาณ 30-40% เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาอีกหลายรายการที่เราอาจจะไม่ได้คิดรวมเข้าไปในตอนแรก นี่แหละค่ะ มันจะบานก็ตรงนี้ ดังนั้นอะไรที่ตัดหรือรอได้ ให้ตัดออกตอนนี้เลยค่ะ
1.3 หาความรู้เรื่องการสร้างบ้าน ขอบอกว่าเราอ่านกระทู้ ตามเพจ และดูรายการเกี่ยวกับการสร้างบ้านไปเยอะมาก เว็บไซต์ที่มีแบบบ้านสวย ๆ ก็มีหลายเว็บเลย ที่เข้าไปดูบ่อย ๆ ก็จะเป็นบ้านและสวน และเพจ Dsign Something เพจนี้จะทำเป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ สัมภาษณ์สถาปนิกด้วยค่ะ เราชอบมาก เพราะได้ฟังแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบ
หลายกระทู้ที่ได้อ่านก็ทำให้กังวลใจเหมือนกัน เช่น เรื่องผู้รับเหมา หลายคนเจอทีมไม่ดี ไม่รับผิดชอบ ทิ้งงาน หรือมารู้ตัวอีกทีหลังเข้าอยู่แล้ว ตามซ่อมบ้านไม่มีวันเสร็จ อ่านแล้วก็ใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ มากค่ะ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่เราตัดสินใจจ้างสถาปนิก เพราะสถาปนิกจะช่วยคุมงานก่อสร้างและช่วยดีลกับผู้รับเหมาเพื่อให้งานออกมาดีแบบที่ควรจะเป็น
เนื่องจากการสร้างบ้านมีรายละเอียดเยอะ บางเรื่องเราก็ไม่ถนัด ก็จะแบ่งงานกับแฟนค่ะ เช่น ให้แฟนดูเรื่องน้ำ-ไฟ หรือติดต่อราชการต่าง ๆ (เพราะแฟนจะใจเย็นกว่าเรามาก 555) ส่วนเราจะดูเรื่องทำจ่ายเงิน ฯลฯ ที่เขียนเล่ามาไม่ได้จะทำให้ท้อใจนะคะว่าทำไมรายละเอียดเยอะจัง ส่วนตัวมองว่าสนุกและได้ความรู้ใหม่ไปด้วยค่ะ ที่สำคัญจะได้คุยกับสถาปนิก ผู้รับเหมา และช่างหน้างานได้รู้เรื่อง อาจจะไม่เข้าใจหมดทุกขั้นตอน แต่อย่างน้อยพอรู้เรื่องบ้างก็ยังดี ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ หาความรู้ไปนะคะ เพราะกว่าบ้านจะเสร็จก็อย่างน้อยปีสองปี มีเวลาเหลือเฟือเลยค่ะ
1.4 หาสถาปนิก เมื่อได้ไอเดียบ้านที่ต้องการแล้ว ก็เริ่มมองหาสถาปนิก เนื่องจากบ้านที่จะสร้างอยู่ที่ จ.ขอนแก่น โจทย์ของเราคือต้องเป็นสถาปนิกที่อยู่ในขอนแก่น (ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องอยู่จังหวัดใกล้เคียง) เพราะเราอยากให้สถาปนิกมาคุมงานก่อสร้างได้อย่างใกล้ชิด สารภาพค่ะว่าใช้เวลาในการหาอยู่นานมาก เพราะบ้านที่เห็นลงตามเพจหรือนิตยสารส่วนใหญ่ สถาปนิกมักจะอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่
หลังจากหาจนตาแฉะ ก็มาเจอบ้านที่ทำให้เรารู้สึกคลิกมาก เป็นบ้านไม้หลังหนึ่งในขอนแก่น เราอ่านจบรีบส่งลิงก์ให้แฟนดู แฟนบอกโอเค เรารีบโทร. หาสถาปนิกเลยค่ะ วันที่ได้เจอกันครั้งแรก อยากบอกว่าตื่นเต้นมาก ๆ เพราะรอวันนี้มานาน หลังจากได้พูดคุยในเรื่องแนวทางการสร้างบ้าน สไตล์การทำงานของสถาปนิก ดูท่าว่าน่าจะไปกันได้ (ตรงนี้สำคัญเพราะสถาปนิกบางคนก็จะทำบ้านแบบที่ตัวเองถนัด บ้านบางแบบสถาปนิกอาจจะไม่รับ หรือเจ้าของบ้านดูเอาแต่ใจ ไม่ฟังความเห็นของสถาปนิกเลย ทำงานกันคงลำบากใจ สถาปนิกปฏิเสธไม่รับงานก็มี หรือเรตราคาค่าเขียนแบบสูงเกิน ซึ่งเราเตรียมใจมาพอสมควรว่าราคาก็น่าจะสาหัสอยู่ ก็เลยโอเค) สุดท้ายสถาปนิกตกปากรับคำว่าจะรับงานนี้
“แต่มีข้อแม้คือต้องรออีก 7 เดือนนะครับ เพราะตอนนี้ผมอยู่ระหว่างหยุดรับงาน พอจะรอไหวมั้ยครับ” อึ้งไปอยู่แป๊บนึง แต่ไม่เป็นไร หาสถาปนิกมาเป็นปี รออีก 7 เดือนจะเป็นไร ที่สำคัญใช้เวลานี้เก็บเงินไปด้วยค่ะ
2. เริ่มสร้าง : เมื่อแบบบ้านเริ่มก่อรูปก่อร่าง
2.1 สถาปนิกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หลังจากรอคิว (ทอง) ของสถาปนิก 7 เดือนเต็ม ก็ได้ฤกษ์นัดเซ็นสัญญาและพูดคุยถึงความต้องการในการสร้างบ้านอย่างละเอียด โดยสถาปนิกจะมีใบมาให้กรอกว่าเราต้องการบ้านกี่ห้อง ห้องอะไรบ้าง มีคนอยู่อาศัยกี่คน ฯลฯ และให้ส่งรูปบ้านที่ชอบ หลังจากพูดคุยเสร็จเราก็พาสถาปนิกมาดูสถานที่ที่จะสร้างจริงด้วย เพื่อให้ได้เห็นบรรยากาศโดยรอบ โดยสถาปนิกก็จะเริ่มวางแผนการก่อสร้างคร่าว ๆ ไปเลย เช่น ทีมก่อสร้างจะเดินทางเข้า-ออกไซต์สะดวกมั้ย สร้างที่พักให้คนงานได้หรือไม่ เป็นต้น
เนื่องจากเตรียมตัวมา 2 ปีเต็ม เราจึงพร้อมมาก (สถาปนิกแอบตกใจพอเห็น ppt ของเรา 555) นอกจากให้ข้อมูลตามที่ขอ เรายังส่งภาพห้องแต่ละห้องที่ต้องการไปด้วย เพื่อให้สถาปนิกรู้จักตัวตนของเราและแฟนมากที่สุด เราสองคนให้ความสำคัญตรงจุดนี้มาก เพราะหากเราสื่อสารไม่ชัด สถาปนิกจะไม่สามารถตีโจทย์บ้านที่เจ้าของบ้านต้องการออกมาได้ ดังนั้นชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ต้องบอกสถาปนิกไปตรง ๆ
ในส่วนคอนเซ็ปต์ของบ้านที่บรีฟให้สถาปนิกไป คือ อยากได้บ้านที่อบอุ่น ไม่ติดหรู มีกลิ่นอายอีสาน แต่เราก็ไม่ได้อยากให้อีสานจ๋า อยากได้ความร่วมสมัยด้วย ในส่วนของวัสดุ ขอเป็นไม้กับอิฐ ไม่เอาเหล็ก เข้าใจว่าไม้ราคาแพง ดังนั้นอาจจะเอาปูนเปลือยมาช่วยลด cost ในบางห้อง แล้วก็เราเป็นคนชอบเพดานสูง ชอบบ้านลมโกรก ชอบแสงเยอะ ๆ ชอบพัดลมเพดาน ก็ให้โจทย์นี้ไป
หลังจากส่งข้อมูลให้สถาปนิก ก็รออยู่เดือนกว่า (เรียกว่านับวันรอเลย) เนื่องจากเราทำงานอยู่ กทม. ก็เลยขอนัดเจอกันที่นี่ (สถาปนิกเข้ามาบ่อย ๆ อยู่แล้ว) และ Video Call กับแฟนที่อยู่ขอนแก่น โดยสถาปนิกเขียนแบบมาให้ 2 แบบ และให้เราเลือกว่าชอบแบบไหน หลังจากนั้นก็จะปรับปรุงแบบที่เราเลือกจนสมบูรณ์ในที่สุด (ส่วนใหญ่แล้วแก้กลับไป-มา 4 รอบได้) ระหว่างนี้ก็จะจ่ายเงินให้สถาปนิกเป็นงวด ๆ ไปด้วย โดยแบ่งจ่าย 4 งวด (งวดสุดท้ายคือหลังแบบ built-in เสร็จ ประมาณ 3 เดือนก่อนบ้านเสร็จ)
พอได้ Final Draft มา สถาปนิกก็จะทำแบบก่อสร้างอย่างละเอียด ซึ่งละเอียดยิบมาก ๆ (ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน) พอแบบก่อสร้างเสร็จ สิ่งที่จะได้ตามมาคืองบประมาณการก่อสร้าง พอถึงตรงนี้ถึงกับลมจับเลยทีเดียว ToT รีบปรับลดสเปกลงแทบไม่ทัน เช่น เปลี่ยนหน้าต่างในห้องน้ำจากไม้เป็นอะลูมิเนียม เปลี่ยนมาใช้ปูนเปลือยเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งสถาปนิกก็เข้าใจและปรับลดสเปกตามที่เราต้องการ หรือตรงส่วนไหนที่เห็นว่าไม่จำเป็นสถาปนิกก็แนะนำให้ตัดออก
หลายคนสงสัยว่านอกจากออกแบบแล้วสถาปนิกทำอะไรอีก สำหรับเราหน้าที่สำคัญของสถาปนิกมีอยู่ 3 อย่าง คือ การออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้านมากที่สุด ควบคุมการก่อสร้างร่วมกับผู้รับเหมาให้บ้านออกมาตรงกับแบบมากที่สุด และเป็นที่ปรึกษาให้เจ้าของบ้านในยามที่ไม่รู้จะหาที่พึ่งที่ไหน (อันนี้กราบเลย 555) แรก ๆ ก็เกรงใจไม่อยากถามเยอะ ช่วงหลัง ๆ โทร. หาบ่อยมาก ซึ่งสถาปนิกใจเย็นมาก ตอบทุกข้อสงสัยไม่มีบ่น แนะนำว่าเวลามองหาสถาปนิกให้หาคนใจเย็น ๆ ไว้เลยค่ะ และที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบสูง ขยันมาดูไซต์
จึงเป็นที่มาว่าทำไมค่าจ้างของสถาปนิกจึงแพง เพราะต้องเขียนแบบ แก้แบบ ทำแบบก่อสร้างที่มีรายละเอียดเกือบร้อยหน้า ไหนจะแบบ built-in แบบสวน ต้องมาดูไซต์ก่อสร้าง ประชุมงานกับผู้รับเหมา ตอบคำถามเจ้าของบ้านอีกร้อยแปด Process ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเกือบ 2 ปี พอเขียนมาถึงตรงนี้ เรารู้เลยว่าเงินที่จ่ายไปไม่ได้แพงเกินไปเลยกับสิ่งที่ได้กลับมา ดังนั้นแบ่งงบสร้างบ้านมาจ้างสถาปนิกเถอะ คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
2.2 ผู้รับเหมาที่ดีมีอยู่จริง คิดว่าหลายท่านกังวลเรื่องการหาผู้รับเหมา เพราะถ้าถามคนรอบตัว ต้องมีบ้างที่เจอผู้รับเหมาทิ้งงาน ถ้าไม่ทิ้งงาน ก็ทำงานชุ่ย คำแนะนำ คือ ให้จ้างสถาปนิก เพราะสถาปนิกจะเป็นคนตรวจงานผู้รับเหมาอีกทีว่าตรงจุดนี้ผ่านมั้ย หรือสร้างตรงตามแบบก่อสร้างหรือเปล่า
โชคดีในโชคดีที่ได้ผู้รับเหมาที่มีทัศนคติในการทำงานดี คือ ชอบงานที่ท้าทาย และอยากพัฒนาสกิลการก่อสร้างของช่างในทีม มีความเป็นมืออาชีพสูง นำเสนอสิ่งดี ๆ ให้เจ้าของบ้าน แทนที่จะทำงานแบบขอไปที และขยันทำงานมาก เราว่าสถาปนิกมาดูไซต์บ่อยแล้ว ผู้รับเหมาบ่อยยิ่งกว่า อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่ออาทิตย์ ซึ่งที่เราอ่านเจอมาไม่เป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาดูงาน หรือมาเฉพาะตอนใกล้จ่ายค่างวดเท่านั้น ซึ่งตลอดการสร้างบ้าน ผู้รับเหมาเต็มที่กับบ้านนี้มาก ตรงไหนที่ต้องรื้อก็คือรื้อ เมื่อหัวหน้ามีทัศนคติในการทำงานที่ดี ก็ส่งผลไปถึงลูกน้องด้วย ช่างอยากจะพัฒนาฝีมือของตัวเอง และก็ภูมิใจที่ได้ทำงานที่ท้าทาย ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม แนะนำเจ้าของบ้านให้ซื้อวัสดุบางอย่างเอง เช่น ของใช้ในครัวและห้องน้ำ เพราะบางอย่างเราอาจจะซื้อได้ราคาถูกกว่า ที่สำคัญถูกใจเรามากกว่าด้วย เช่น เตาทำอาหารแบบไหนที่ชอบ สุขภัณฑ์แบบไหนที่ชอบนั่ง ก๊อกน้ำ ฯลฯ
สำหรับใครที่กำลังมองหาผู้รับเหมา แนะนำให้ลองคุยกับคนที่เคยใช้บริการของบริษัทนั้น ๆ เพื่อดูว่าทัศนคติการทำงานของผู้รับเหมาเป็นอย่างไร ถ้าจะให้ดี ไปดูไซต์งาน และผลงานที่ทีมนั้นเคยสร้าง เพื่อดูว่างานเนี้ยบมั้ย หลังเข้าอยู่แล้วมีปัญหาหรือเปล่า ซึ่งน่าจะบอกอะไรได้หลายอย่างเลย นอกจากนี้ก็มีเรื่องงบก่อสร้าง ถ้ามี 3 เจ้าเสนอราคามา แนะนำว่าไม่ควรรีบตัดสินจากราคาที่ถูกที่สุด เพราะผู้รับเหมาอาจจะกดราคาโดยใช้เกรดวัสดุที่ไม่ดี อีกทั้งเรตค่าแรงที่ถูกอาจหมายถึงช่างฝีมือไม่ดี แนะนำให้ดูผลงานเก่า ๆ และคุยกับเจ้าของบ้านเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย ซึ่งเราอาจจะต้องจ่ายแพงขึ้น แต่จะทำให้เราไม่ต้องเสียค่าซ่อมเพิ่มเติมในตอนหลัง
ในชีวิตเราอาจจะไม่เคยถูกหวย แต่เราถือว่าเราโชคดีจริง ๆ ที่ได้ทีมงานที่ดี บอกก่อนว่าไม่รู้จักกันมาก่อนเลย และทั้งสถาปนิกและผู้รับเหมาก็เพิ่งจะได้ทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรก แต่อาจเป็นเพราะอายุและทัศนคติที่คล้าย ๆ กัน เลยทำให้ทุกอย่างราบรื่น ทีมสถาปนิกแม้อายุยังน้อย แต่ไฟแรงมาก และผู้รับเหมาก็มีความเป็นมืออาชีพเต็มที่กับงาน ทั้งหมดนี้ทำให้ประสบการณ์การสร้างบ้านหลังแรกของเราไม่ปวดหัวเลย มีความสุขและสนุกกับการได้มองดูความเปลี่ยนแปลงของบ้านไปทีละน้อย จนวันที่บ้านเสร็จสมบูรณ์
3. หลังเข้าอยู่
“บ้านฟ้าบ่กั้น” 13 เดือนผ่านไป บ้านที่รอมานานก็เสร็จพร้อมเข้าอยู่ แอบมีความเซอร์เรียลไม่น่าเชื่อว่าบ้านเสร็จแล้ว ช่วงโค้งสุดท้ายนี้บอกไม่ได้เลยว่าจะได้เข้าอยู่วันไหน เพราะมีรายละเอียดหลายจุดที่ยังไม่เรียบร้อย ทั้งไฟ ประปา สี built-in ช่างรุมหน้างานเยอะมาก บทบ้านจะเสร็จก็เสร็จซะงั้น รู้ตัวอีกทีขนของย้ายของเข้าบ้านเสร็จเรียบร้อย ตอนนี้เข้าอยู่ได้ 2 เดือนแล้ว เลยขอโอกาสรีวิวบ้านแบบเร็ว ๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์นะคะ
3.1 ฟังก์ชันการใช้งาน โดยรวมแล้วเราโอเคกับบ้านมาก ๆ แทบไม่มีตรงจุดไหนที่อยากปรับเลย (นอกจากอยากให้บ้านใหญ่กว่านี้อีกนิด เสียดายงบไม่พอ 555) ชอบที่ไม่ต้องเปิดไฟตอนกลางวัน เพราะหน้าต่างเยอะ ทำให้มีแสงสว่างเข้ามาตลอด อากาศถ่ายเทดี ลมโกรกตลอดเวลา ทำให้บ้านไม่ร้อน ตอบโจทย์เรื่องประหยัดไฟดีมาก อาจจะมีช่วง เม.ย.-พ.ค. ที่ร้อนจัด ๆ ก็มีโหยหาแอร์ ชอบที่ห้องนอนเงียบสนิทด้วย เวลาฝนตกแทบไม่ได้ยินเสียงเลย ต้องขอบคุณกำแพงอิฐสามชั้นที่ทำให้บ้านเย็น และเก็บเสียงได้ดี หากใครชอบบ้านแบบโปร่งสไตล์นี้ แนะนำให้ติดมุ้งจีบหรือมุ้งลวด เพราะตอนกลางคืนจะหายใจไม่ออก
รู้สึกคิดถูกมากที่ตัดสินใจทำชั้นหนังสือแบบใหญ่ ๆ ไปเลย เพราะก่อนหน้านี้ที่ไม่พอก็ต้องวางทับ ๆ กัน ตอนนี้คือที่พอและสามารถจัดระเบียบหนังสือได้ดีมาก แต่ตอนทำความสะอาดก็ยุ่งยากนิดหน่อย เพราะต้องเอาบันไดมาต่อ เพื่อปีนไปเช็ดฝุ่นชั้นบน
ให้ทายว่ามุมโปรดของคนในบ้านคือตรงไหน… มันคือเปลไม้ไผ่หน้าบ้านค่ะ รองลงมาก็จะเป็นชานไม้หน้าบ้าน เพราะช่วงบ่ายแดดจะย้ายไปหลังบ้าน ทำให้หน้าบ้านเหมาะแก่การงีบ นอนเล่นบนเปลมาก ๆ
ถ้าถามว่าไม่ชอบอะไร น่าจะเป็นพวกแมลง เนื่องจากบ้านอยู่นอกเมือง ทำให้มีแมลงต่าง ๆ เข้ามาในบ้านทุกวัน โดยเฉพาะตรงโถงห้องนั่งเล่นที่เป็น Double Volume ตื่นมาตอนเช้าก็จะเห็นแมลงตายเกลื่อนพื้น ก็ต้องมาคอยกวาด ไม่งั้นบรรดามดก็จะแห่มารุมแมลง
แนะนำใครที่กำลังสร้างบ้านให้ดูแบบให้ละเอียด ๆ โดยจินตนาการว่าเรากำลังเดินอยู่ในบ้าน ดูว่าขนาดห้องเท่านี้โอเคมั้ย หน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว บ้านจะต้องเจออะไรบ้าง ตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ โอเคแล้วมั้ย หรือตำแหน่งปลั๊ก-สวิตช์ไฟโอเคหรือเปล่า ซึ่งเราไม่ได้ดูตรงนี้ แต่โชคดีที่ที่ทำมาโอเคเลย ชอบที่บ้านมีปลั๊กอยู่หลายจุด ทำให้ไม่ต้องใช้ปลั๊กพ่วง ชอบไฟแสงสีส้มด้วย เข้ากับบ้านไม้บ้านอิฐมาก ๆ แล้วก็ทำให้บ้านดูอบอุ่น แอบชอบมองบ้านตอนกลางคืนตัดกับท้องฟ้าสีดำ
มีเหมือนกันที่ต้องแก้งาน เช่น พัดลมเพดานที่ซื้อมาใหญ่กว่าอันทั่วไป ก็ต้องขยับไฟและทำฝ้าใหม่ หรือปลั๊กไฟที่อยู่นอกบ้าน ปรากฏว่าโดนฝนสาดเต็ม ๆ ซึ่งต้องย้ายออก แล้วก็ชานไม้ข้างบ้าน เพราะตรงนั้นไม่ได้ปลูกหญ้า ปรากฏว่าพอฝนตก ดินสาดขึ้นมาเต็ม ๆ ซึ่งก็ต้องเทปูนเพิ่มเพื่อไม่ให้ไม้พัง
ส่วนเรื่องการดูแลสวน แอบเหนื่อยใช้ได้เลย เพราะสนามหญ้าที่สวย ๆ เบื้องหลังคือการขยันรดน้ำ ตัดหญ้า (30-45 วัน ควรตัด 1 ครั้ง) และถอนวัชพืช รดน้ำทีหนึ่งใช้เวลาไปเป็นชั่วโมง ถ้ามีเงินเหลือแนะนำให้ทำระบบรดน้ำดี ๆ ไว้เลยค่ะ
3.2 เก็บงานหลังเข้าอยู่ หลังจากส่งมอบบ้านให้เจ้าของบ้านแล้ว ผู้รับเหมาแจ้งว่า ช่วงเดือนแรกก็น่าจะยังต้องแวะเวียนมาอยู่ เพราะอาจจะพบ Defect ในบางจุด ซึ่งก็จริง 3 วันหลังเข้าอยู่ ฝนตกสาดเข้าบ้านหนักมาก เพราะมีรอยรั่วตรงจุดที่ไม้กับกระจกมาเชื่อมกัน ซึ่งพอโทร. หาผู้รับเหมา วันรุ่งขึ้นก็รีบส่งช่างมาแก้ไข นอกจากนี้ก็มีเจอน้ำซึมออกมาจากท่อน้ำดี ซึ่งก็รีบส่งช่างมาดูแล เราและแฟนประทับใจกับบริการหลังการสร้างมาก ซึ่งผิดกับหลายที่ที่งานจบแล้วก็หายตัวไปเลย ซึ่งในสัญญาบ้าน ผู้รับเหมาจะดูแลเราอีก 1 ปีหลังส่งมอบงาน
และทั้งหมดนี้คือการรีวิวประสบการณ์สร้างบ้านหลังแรกยังไงไม่ให้ปวดหัว หวังว่าจะมีประโยชน์กับใครที่กำลังวางแผนจะสร้างบ้านนะคะ
เคยถามสถาปนิกว่า บ้านจะสวยออกมาเหมือนในแบบ Perspective ไหม เพราะบางทีดูในคอมพิวเตอร์คือดูดีมาก สร้างออกมางั้น ๆ สถาปนิกตอบว่า “บ้านของจริงจะสวยกว่าแบบมาก ๆ ครับ” ซึ่งตอนนั้นเราก็ได้แต่ลุ้น มาวันนี้ วันที่ได้เข้าอยู่ นึกถึงคำพูดของสถาปนิกเลย เพราะต่อให้แบบในคอมพิวเตอร์ดูสวยขนาดไหน แต่มันไม่มีมิติเท่ากับของจริง ไม่มีเสียงนก ไม่มีลมพัดผ่านชานหน้าบ้าน ไม่มีแดดยามเช้าสะท้อนชั้นหนังสือ “และบ้านจะสวยมากขึ้น เมื่อเจ้าของบ้านเข้ามาอยู่ เพราะมันจะมีชีวิตและเรื่องราวของเจ้าของบ้านเข้าไป ทำให้บ้านยิ่งสมบูรณ์มากขึ้นไปอีก”
เขียนมาถึงตอนนี้ ก็ยังไม่อยากเชื่อเลยว่าคนธรรมดา ๆ แบบเราก็สามารถฝันที่จะมีบ้านแบบนี้ได้ ขอบคุณตัวเองและแฟนที่กล้าฝัน และช่วยกันทำฝันจนเป็นจริง พอได้เริ่มก้าวแรก ก้าวต่อ ๆ ไปก็จะมาเอง
ขอบคุณที่อ่านมาจนจบนะคะ สำหรับคนที่ฝันอยากมีบ้าน ขอให้ทำฝันสำเร็จ ค่อย ๆ วางแผนไปทีละนิดนะคะ หวังว่ากระทู้นี้จะพอมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
ส่วนคนที่มีบ้านอยู่แล้ว ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอยู่บ้านในทุก ๆ วันค่ะ
ส่งท้ายกระทู้ด้วยรูปตอนกำลังสร้างบ้าน ไม่น่าเชื่อเลยว่า What a difference a year has made 1 ปีผ่านไป อะไร ๆ เปลี่ยนไปเยอะเลยจริง ๆ ขอบคุณทีมงานกว่าร้อยชีวิตที่ทำให้บ้านฟ้าบ่กั้นหลังนี้มีชีวิตขึ้นมา และเป็นทุกอย่างที่เราสองคนฝันไว้
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ hola_mundo สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม